เป้าหมายที่ 15
ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าครอบคลุมกว่า 102 ล้านไร่ โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นกว่า 332,000 ไร่ (อ้างอิงข้อมูลการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ปี 2560-2561 โดยกรมป่าไม้) ด้วยข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าภารกิจในการปกป้องพื้นป่าของไทยนั้นครอบคลุมพื้นที่กว่าร้อยละ 32 ของประเทศและนับเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาพื้นป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในแง่พืชพันธุ์ และ
สัตว์ป่า ท่ามกลางความท้าทายในการปกป้องพื้นป่าและสัตว์ป่าดังกล่าวประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิรูปการทำงานด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครองโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการทำงานของทุกภาคส่วนภายใต้การพัฒนาระบบที่ชื่อว่า “SMART Patrol System”
การปฏิรูประบบลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol System) เป็นการบูรณาการทำงานที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ได้รับการการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการสนับสนุนด้านความรู้เทคนิคและด้านอุปกรณ์การทำงาน เพิ่มศักยภาพในการป้องกัน ปราบปราม และการจัดการพื้นที่ โดยการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อวางแผนลาดตระเวน การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผลอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและมีมาตรฐาน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยนำโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ในการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลาดตระเวนในระดับต่าง ๆ ภายใต้ โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวน และได้ดำเนินการพัฒนาการทำงานที่มีการดึงเอาระบบฐานข้อมูล “สมาร์ท” (Spatial Monitoring And Reporting Tool: SMART) เข้ามาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานและการเชื่อมโยงข้อมูลและมาตรฐานกับสากล นอกจากนี้ SMART Patrol System ยังเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาเครือข่ายการทำงานของผู้เชี่ยวชาญข้ามสาขาโดยมีการพัฒนาความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาอื่น ๆ ในการร่วมกันเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบทั้งในระดับฐานข้อมูล การเพิ่มพูนทักษะการลาดตระเวน การใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ ข้อมูลภาพดาวเทียม และระบบติดตามใหม่ ๆ รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลสมัยใหม่
ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินการโครงการ SMART Patrol System ในพื้นที่นำร่องเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติโดยองค์การยูเนสโกตั้งแต่ ปี 2534 ซึ่งผลการดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้นเป็นไปได้อย่างดีและอยู่ระหว่างการขยายโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพฯ ดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน อาทิ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน